ตัวละครทั้งหกตามหานักประพันธ์

อีก 100 ปีต่อมา ตัวละครทั้งหกยังคงตามหานักประพันธ์

เรื่อง: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

บทละครเรื่อง ตัวละครทั้งหกตามหานักประพันธ์ เริ่มต้นที่ฉากการซ้อมละครเรื่อง เล่นตามบท ของคณะละครกลุ่มหนึ่ง ละครเวทีเรื่อง เล่นตามบท หรือ Il giuoco delle parti เป็นบทละครที่มีอยู่จริงของลุยจิ ปิลันเดลโล ถูกเขียนและเเสดงครั้งแรกในปี ค.ศ.1918 สองปีก่อนที่ ปิรันแดลโล จะเขียนบทละครเรื่อง ตัวละครทั้งหกตามหานักประพันธ์ (1921) และเขาก็นำ เล่นตามบท มาทำการละเล่นทางศิลปะในบทละครเรื่องนี้ด้วย

     เรื่องราวเริ่มต้นในลักษณะเรื่องซ้อนเรื่อง แต่ดำเนินไปเพียงไม่กี่หน้ากระดาษ การซักซ้อมละครเรื่องเล่นตามบท ก็ถูกแทรกแซงด้วยตัวละครทั้งหก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วยกับบทละครเรื่อง เล่นตามบท (เพราะจิตวิญญาณของพวกเขาอยู่นอกบทละครเรื่องเล่นตามบท) พวกเขาเดินเข้ามาในหน้ากระดาษ (ซึ่งแน่ละว่าเป็นพื้นที่ของพวกเขาโดยแท้ เพราะเรากำลังอยู่บนหน้ากระดาษของบทละครเรื่อง ตัวละครทั้งหกตามหานักประพันธ์) ที่กำลังเล่าเรื่องการซ้อมละครเรื่องเล่นตามบท

     เล่นตามบท ถูกแทรกแซงด้วย ตัวละครทั้งหก ที่เข้ามา ตามหานักประพันธ์ เป็นการบอกกับผู้อ่าน (ผู้ชม) ว่า เรื่องราวต่อจากนี้คือการฉีกบทหรือกฎเกณฑ์ที่เคยเป็นกรอบให้แก่การรับรู้เรื่องการประพันธ์ ศิลปะ ละครเวที

     ตัวแทนของตัวละครทั้งหกแจ้งความประสงค์ต่อคณะละครว่า พวกเขากำลังตามหานักประพันธ์คนใหม่เพื่อเล่าเรื่องราวของพวกเขาต่อให้จบ นักประพันธ์คนก่อนที่สร้างพวกเขาขึ้นมาได้ละทิ้งชีวิตและเรื่องราวของพวกเขาประหนึ่งอาชญากรรม การที่ตัวละครไม่ได้ถูกทำให้เป็นที่ประจักษ์ผ่านรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งของงานศิลปะ ก็เท่ากับว่าตัวละครเหล่านั้นได้ถูกทำให้ตายไป เหมือนหนังสือ เพราะหนังสือที่ไม่มีคนอ่านก็เหมือนคนที่ตายไปแล้ว

     เรื่องราวทั้งหมดในบทละครเรื่อง ตัวละครทั้งหกตามหานักประพันธ์ เกิดขึ้นภายในช่วงเวลาหนึ่งของวันซ้อมละครของคณะละครในโรงละครแห่งหนึ่ง แต่เรื่องราวการตามหานักประพันธ์ของตัวละครทั้งหกยังคงเดินทางผ่านประวัติศาสตร์และกาลเวลา ละครเรื่องนี้ยังคงถูกนำมาแสดงอย่างต่อเนื่องตราบปัจจุบัน

     การที่ตัวละครไม่ยอมเล่นตามบท หรือไม่ยอมถูกจัดการให้อยู่ในความต้องการทางการละครโดยการควบคุมของผู้กำกับการแสดง เป็นความพยายามของปิรันแดลโลที่จะอภิปรายให้ผู้อ่านและผู้ชมได้ขบคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักประพันธ์ ตัวละคร และศิลปะ (ละครเวที) ความสัมพันธ์สามเส้าข้างต้นยังชวนให้เราลงลึกพิจารณาไปถึงพื้นที่ทับซ้อนกันของความจริง ความเป็นจริง และมายาภาพ แต่ประเด็นที่ดูจริงจังเเละเป็นปรัชญานี้ถูกนำเสนอผ่านบทสนทนาที่ตลกหน้าตาย สนุกสนาน ลุ่มลึก และคมคาย

     ความคมคายของความคิดที่ตัวละครโต้เถียงกันยังเชื้อชวนให้เราค่อยๆ พินิจพิจารณาถึงประเด็นที่ลึกซึ้งและยากแก่การอธิบาย นั่นก็คือความหมายของการดำรงอยู่ ความหมายของชีวิต และมุมมองที่เรามีต่อความจริงชุดต่างๆ ดังที่ตัวละครที่เป็น ‘ตัวละคร’ กล่าวกับตัวละครที่เป็น ‘ผู้กำกับการแสดง’

“ความจริงของเมื่อวานจะกลายเป็นมายาภาพของวันพรุ่งนี้”

     ประโยคนี้ชวนให้เราสางผมเพื่อจัดการความคิดยุ่งเหยิง ความจริงของเมื่อวานจะกลายเป็นมายาภาพของวันพรุ่งนี้ หากวันนี้เรามีหลักฐานและข้อมูลใหม่ ที่จะหักล้างความจริงเดิมที่เราเคยเชื่อถือกันมา เรื่องนี้แจ่มชัดหากเรานึกถึงประวัติศาสตร์นิพนธ์ วิทยาศาสตร์ และความรู้ทางโภชนาการ ซึ่งพร้อมจะเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการค้นพบข้อมูลใหม่

     ตัวละครทั้งหก ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูกเลี้ยง ลูกชาย เด็กชาย และเด็กหญิง พวกเขาน่าจะเป็นตัวละครขบถและหัวรั้นที่สุดชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์วรรณกรรม พวกเขาไม่ยอมอยู่ภายใต้ความต้องการทางการละครและการบงการของผู้กำกับการแสดง พวกเขาต้องการนักประพันธ์ (หรือนักคัดลอกบทก็ได้ พวกเขาไม่ค่อยจะแคร์ในจุดนี้นัก) มาสานต่อให้เรื่องราวของพวกเขาจบบริบูรณ์ พวกเขาต้องการมีชีวิตในภาพลวงของความจริง เพราะภาพลวงของความจริงคือความจริงแท้เดียวในชีวิตตัวละคร

     ในอีก 100 ปีต่อจากนี้ ทุกครั้งเมื่อเราเปิดอ่าน ตัวละครทั้งหกตามหานักประพันธ์ เราจะเห็นจิตวิญญาณดวงเดิมของตัวละครทั้งหก พวกเขาจะยังคงออกตามหานักประพันธ์ ขบถและหัวรั้น (ในยุคสมัยที่พวกเขาถือกำเนิด) ไม่ยอมอยู่ใต้ความต้องการทางการละครหรือในร่างกายของนักแสดงไม่ว่ายุคสมัยจะผันเปลี่ยนไปเช่นใด นี่คือความจริงที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือตัวของเรา มุมมองของผู้อ่าน ประสบการณ์ ความทรงจำ รสนิยม วัฒนธรรม สังคมและการเมือง ที่ห้อมล้อมและมีผลต่อการสร้างความรับรู้ของผู้อ่าน

    หลายครั้งที่ความลุ่มลึกและไพเราะของบทเพลงหรือบทประพันธ์ไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยตัวบทเพียงลำพัง หากแต่เป็นสหบทในตัวผู้ฟังและผู้อ่าน ได้หลอมรวมสิ่งที่ปรากฎในตัวบท กลั่นกรองออกมาเป็นคุณค่าที่ตนเป็นผู้ค้นพบ

     ในการแสดงละครเวทีเรื่อง ตัวละครทั้งหกตามหานักประพันธ์ รอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ.1921 ที่โรงละคร Teatro Valle ที่กรุงโรม เหตุการณ์ในวันนั้นได้ถูกบันทึกว่า ปิรันแดลโลนำเสนอความแปลกใหม่และน่าทึ่งจนโรงละครเกิดความโกลาหล

คณะนักแสดงละครเวที Sei personaggi in cerca d’autore, 1921

     ปิรันแดลโล เริ่มต้นแนะนำบุคคล 6 คน พวกเขาอ้างว่าตนเป็นผลงานที่ไม่สมบูรณ์ของนักประพันธ์ผู้ไม่สามารถเอาชนะตนเองได้ พวกเขาจึงถูกนักประพันธ์ทอดทิ้ง แต่พวกเขาเกิดขึ้นมาแล้ว มีชีวิตแล้ว ดำรงอยู่เป็นตัวละครเปี่ยมอิสระจากจินตนาการของศิลปิน ซึ่งฟังดูแล้วก็เป็นพล็อตเรื่องที่เท่และน่าสนใจมาก และเราคงได้แต่เดาว่าสีหน้าของปิรันแดลโลจะต้องตีหน้าตายขนาดไหนเวลาทำเรื่องเหล่านี้

     “นักประพันธ์คนที่สร้างเราขึ้นมาให้มีชีวิตนั้น เกิดไม่อยากนำเราไปสู่โลกแห่งศิลปะ หรือไม่เขาก็ทำไม่ได้ มันคืออาชญากรรมชัดๆ เลยนะครับ เพราะตัวละครโชคดี เกิดมาเป็นตัวละครนั้นจะหัวเราะเยาะความตายก็ยังได้  เพราะตัวละครจะไม่มีวันตาย มนุษย์ตาย นักเขียนและเครื่องมือในการสร้างสรรค์ตาย แต่ตัวละครที่เขาสร้างขึ้นจะไม่ตาย และการมีชีวิตอยู่เป็นนิรันดร์แบบนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติพิเศษ หรือต้องสร้างปาฏิหาริย์ใดๆ เลย  ซานโซ่ ปันซ่า เป็นใคร ดอนอับบอนดิโอ เป็นใคร  ถึงกระนั้นพวกเขาก็มีชีวิตอยู่เป็นนิรันดร์ เพราะต่างก็เป็นเมล็ดพันธุ์ที่โชคดี เจอแหล่งเพาะ เจอจินตนาการที่รู้จักหล่อเลี้ยง และทำนุบำรุงพวกเขา ทำให้พวกเขามีชีวิตอยู่ชั่วนิรันดร์” (หน้า 49)

     หากมองจากมุมมองของปัจจุบัน แนวคิดที่ปิรันแดลโลนำเสนอเมื่อ 101 ปีที่แล้ว เป็นเรื่องปกติธรรมดาในวัฒนธรรมการอ่านหรือศิลปะร่วมสมัย นัยของปิรันแดลโลที่แนะนำบุคคลแปลกประหลาดทั้งหกในโรงละครที่กรุงโรมในค่ำวันนั้นก็เพื่อที่จะชี้ให้เห็นเสรีภาพในการอ่านและการตีความของผู้ชม

     ปิรันแดลโล ท้าทายผู้ชมของเขาประหนึ่งอัศวินผู้ถือดาบและโล่ดุ่มเดินเข้าไปในอาณาจักรอันศักดิ์สิทธิ์ของผู้ประพันธ์และศิลปะ เขาเงื้อดาบขึ้นเพื่อลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของศิลปะและการละคร ด้วยการปล่อยให้ตัวละครทั้งหกมีอิสรภาพจากผู้ประพันธ์และมีจิตวิญญาณของตนเอง ดุจเดียวกับอิสรภาพของผู้ชม

     ปฏิกิริยาของผู้ชมแบ่งออกเป็นสอง ผู้ชมกลุ่มหนึ่งโห่ไล่ปิรันแดลโลให้ไปโรงพยาบาลบ้า จนเขาต้องหลบออกไปด้านหลังโรงละครไปพร้อมกับลูกสาว ต่อมาไม่นาน ตัวละครทั้งหกตามหานักประพันธ์ ถูกนำไปแสดงที่โรงละครในมิลาน ผลลัพธ์ก็เป็นตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกิดในกรุงโรม จากนั้นเขาก็มีชื่อเสียงไปทั่วโลก โรงละครในเมืองสำคัญๆ ต่างเปิดการแสดงละครเรื่องนี้ ละครเรื่องนี้ถูกนำไปสร้างเป็นละครบรอดเวย์แสดงที่นครนิวยอร์ก กระทั่งปิรันแดลโลได้รับรางวัลโนเบลในปี 1934 ละครเรื่องนี้ยังมีนักการละครรุ่นใหม่ๆ นำมาแสดงกันอยู่จนถึงปัจจุบัน

     ระยะเวลาเพียง 101 ปี ก็ทำความเข้าใจได้ยากเสียแล้วว่า ทำไมแนวคิดทางศิลปะของปิรันแดลโลจึงก่อให้เกิดความโกลาหลถึงขนาดขับไล่ผู้ประพันธ์ไปโรงพยาบาลบ้า เช่นเดียวกับฉากหลายฉากในประวัติศาสตร์ ผู้คนเข่นฆ่ากันเพียงเพราะการพูดความจริงขั้นพื้นฐานอย่างการบอกว่าโลกกลม

     ในปี 1925 ปิรันแดลโล ตีพิมพ์บทละครเรื่อง ตัวละครทั้งหกตามหานักประพันธ์ พร้อมกับเขียนคำนำที่เป็นเหมือนถ้อยแถลงเพื่อชี้แจงเหตุผลของการประพันธ์ และตอบโต้บรรดานักวิจารณ์ที่โจมตีงานชิ้นนี้ของเขา รวมทั้งอธิบายความหมายสำคัญบางประการของบทละคร

     แต่เมื่อได้อ่านถ้อยแถลงนี้ ผมมีความรู้สึกว่าเนื้อหาและรูปแบบของถ้อยแถลงนี้มีสถานะเหมือนข้อเขียนเชิงปรัชญาที่ถูกเล่าในรูปแบบงานวรรณกรรมแบบเมตาฟิกชั่น ปิรันแดลโลอธิบายกระบวนการเขียนบทละครเรื่องนี้และการดำรงอยู่ของตัวละครทั้งหก แต่มันชวนให้เราตระหนักลึกลงไปถึงการดำรงอยู่ของตนเอง

    “ข้าพเจ้าให้เหตุผลของการมีอยู่และหน้าที่อื่นแก่พวกเขาซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เป็นไปไม่ได้” ปิรันแดลโลเขียนถึงตัวละครทั้งหกของเขา “พวกเขาไม่ระแวงสงสัยเลยแม้แต่น้อยว่า นี่คือเหตุผลของการมีอยู่ของพวกเขา (การเป็นตัวละคร) ซึ่งมีชีวิตของตนเองแล้ว และได้กลายเป็นหน้าที่ที่จำเป็นจริงๆ และเพียงพอที่จะดำรงอยู่ หากมีใครไปบอกพวกเขา พวกเขาคงไม่เชื่อ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะเชื่อว่า เหตุผลเดียวของการมีชีวิตอยู่ คือเพื่อทนทุกข์จากสิ่งที่เราเห็นว่าไม่เป็นธรรม และอธิบายไม่ได้”

Luigi Pirandello รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี 1934

     โลกในศตวรรษที่ 21 เรียกร้อง (ให้ผู้อื่น) ‘มีความเป็นมนุษย์’ จนความหมายของคำนี้หลากหลายจนแทบจะรางเลือนจนหาความหมายไม่พบ สำหรับปิรันแดลโล ตัวละครที่มีมิติความเป็นมนุษย์ที่สุดในหมู่ตัวละครทั้งหกคือตัวละครที่เป็น แม่ เพราะเธอไม่มีความคิด ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร หรือไม่สนใจที่จะทำความเข้าใจตัวตนของตัวเอง

     “แต่เรื่องที่เธอไม่รู้ว่าตัวเองเป็นตัวละคร ไม่ได้ทำให้เธอหมดสภาพการเป็นตัวละคร นี่คือเรื่องราวของเธอในละครของข้าพเจ้าเรื่องนี้”

     ตัวละคร ลูกชาย เป็นตัวละครอีกตัวที่น่าสนใจ น่าสนใจเพราะเขาต่อต้านการแสดง เขาไม่ยอมแสดงเลย เพราะเขาไม่อยากก่อให้เกิดเหตุการณ์ในบทประพันธ์ของนักประพันธ์ เพื่อให้ชุดสถานการณ์ที่ยืนยันการมีอยู่ของตนได้รับการแก้ไข เป็นทั้งการปกป้องตนเองและท้าทายอำนาจไปในคราวเดียวกัน หากเขาเป็นวิญญาณก็เป็นวิญญาณที่ไม่ต้องการเกิด

ตัวละครทั้งหกตามหานักประพันธ์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดย สนพ. อ่านอิตาลี

     Play หรือบทละคร เป็นคำศัพท์ที่ครอบคลุมทั้งงานเขียนบทละครและการแสดงละครเวที อีกด้านหนึ่งของคำคำนี้ก็คือการเล่น การเล่นย่อมอยู่ตรงข้ามกับความจริงจัง และชีวิตก็ดูจะเป็นสิ่งตรงข้ามกับการละเล่น แต่บทละครเหล่านี้ล้วนถูกนำมาแสดงเพื่อสร้างภาพแทนของความจริง ภาพลวงเหล่านี้เต็มเปี่ยมไปด้วยความหมายที่ส่องสะท้อนให้เห็นความจริง

     ในฉากหนึ่งของบทละคร ปิรันแดลโลแนะนำว่า หากนักการละครท่านใดต้องการนำบทละครเรื่องนี้ไปจัดแสดง เพื่อจะสร้างความกระจ่างแก่ผู้ชมให้เห็นความแตกต่างระหว่าง ‘ตัวละครทั้งหก’ กับ ‘นักแสดง’ นอกจากตำแหน่งการยืนบนเวทีและการจัดไฟที่น่าจะช่วยแยกแยะได้แล้ว วิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็คือการสร้างหน้ากากที่ทำจากวัสดุพิเศษขึ้นมาให้ตัวละครทั้งหกสวมใส่

     “วิธีการนี้เป็นการตีความละครเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง เพราะ ‘ตัวละคร’ ต้องไม่ปรากฎให้เห็นเช่น ‘วิญญาณ’ แต่ต้องเหมือน ‘ความจริงที่สร้างขึ้น’ เป็นจินตนาการที่ประกอบสร้างขึ้นและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นจริงและคงที่มากกว่าธรรมชาติของนักแสดง ซึ่งเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา”

     ซึ่งหน้ากากทั้ง 6 ใบที่เป็นตัวแทนของตัวละครทั้งหก ได้ถูกสร้างและออกแบบขึ้นมาเป็นปกหนังสือ ตัวละครทั้งหกตามหานักประพันธ์ ฉบับแปลภาษาไทยเมื่อปี 2015 โดยสำนักพิมพ์อ่านอิตาลี หน้าปกฉบับพิมพ์ครั้งแรกออกแบบโดย ณขวัญ ศรีอรุโณทัย (และหนังสือเล่มนี้ยังเป็นหนังสือเล่มแรกที่สำนักพิมพ์อ่านอิตาลีจัดพิมพ์ขึ้นมา) ซึ่งผมได้อ่านเป็นครั้งแรกในตอนนั้น ในวาระที่หนังสือเล่มนี้ถูกกล่าวถึงอีกครั้งในสังคมไทย เนื่องจากบทละครเรื่องนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Six Characters มายาพิศวง โดยหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ผู้วายชนม์ ผมจึงกลับไปอ่านบทละครเรื่องนี้อีกครั้ง จนพบความเปลี่ยนไปของตัวเองและความสถิตย์ถาวรของตัวละครทั้งหก

     เมื่อกลับไปอ่านบันทึกหลังการอ่านครั้งแรกของตัวเอง ผมพบความโหวงเหวงในข้อเขียนชิ้นนั้น เพราะผมในวันนี้ไม่ได้เป็นผมคนเดียวกับผมในวันนั้นอีกต่อไป เหมือนที่ตัวละคร 1 ใน 6 ได้กล่าวไว้ในบทละคร

     “คุณในตอนนี้มองเห็นตัวเองเหมือนที่เคยเป็นในสมัยก่อนหรือเปล่า คุณครับ เมื่อคุณหวนนึกถึงความเพ้อฝันของคุณในอดีต ซึ่งตอนนี้คุณไม่ได้เพ้อฝันถึงมันแล้ว หวนนึกถึงสิ่งต่างๆ ที่ตอนนี้คุณรู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่เคยเป็นแล้ว คุณไม่รู้สึกโหวงเหวงหรอกหรือครับเมื่อคิดว่า สิ่งที่คุณรู้สึกอยู่ตอนนี้ ความจริงทั้งหมดของคุณอย่างที่เป็นอยู่ในวันนี้ จะต้องกลายเป็นภาพมายาสำหรับคุณเมื่อวันพรุ่งนี้มาถึง”


บทความล่าสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า