พยานไม่รู้เห็น เรื่องรักไม่รู้ตัว

เรื่อง: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

กุยโด แกวร์เรียรี ทนายหนุ่มวัย 38 กำลังอยู่ในวิกฤติของชีวิต ภรรยาเพิ่งขอแยกทาง สิ่งที่หยามหมิ่นเธอมากที่สุดไม่ใช่ “ความไม่ซื่อสัตย์ของผม คำนี้เหมือนเป็นน้ำลายพ่นมาโดนหน้าผม แต่เป็นเรื่องที่ผมไม่ให้เกียรติเธอด้วยการทำเหมือนเธอเป็นคนโง่ เธอไม่รู้ว่าผมเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร หรือเพิ่งมาเป็น”

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เธอไม่อยากใช้ชีวิตร่วมกับคนน่ารังเกียจอีกแล้ว

กุยโดเครียด วิตกกังวล กลัวที่แคบ นอนไม่หลับ และเริ่มเศร้า พยาธิสภาพหลังถูกบอกเลิกส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ มันลุกลามไปถึงหน้าที่การงาน

เขาเป็นทนายฝ่ายจำเลยในคดีอาญาผู้เปี่ยมไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมและรอบจัด แม้ไม่ได้มีความสุขกับวิชาชีพมานานแล้ว แต่กุยโกเป็นทนายมีฝีมือ ลูกความยังคงปากต่อปากถึงฝีไม้ลายมือในการว่าความของเขา แม้ไม่ได้เป็นทนายในอุดมคติผู้ยืนข้างความยุติธรรม แต่เขาเข้าใจกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีช่องโหว่ให้แก่ความเท็จ เขาทำคดีให้ลูกความผู้ก่ออาชญากรรมได้รับโทษน้อยกว่าที่ควร

การหักโค่นของชีวิตทำให้เขาตั้งคำถามกับรากที่หยั่งลึกในเนื้อดิน ทำไมยังคงเป็นทนาย ปัญหาทางสุขภาพจิตเริ่มทำให้ไม่มีสมาธิทำงาน ชะตากรรมของลูกความแขวนอยู่บนความรับผิดชอบต่อวิชาชีพที่ง่อนแง่น ทนายรูปหล่อของเรากำลังอยู่ในภาวะ Burn out ไฟกำลังไหม้ชีวิตอย่างช้าๆ และเขายังไม่รู้วิธีดับมัน จนกระทั่งกระบวนการค้นหาความจริงทั้งในชีวิตของตนเองและในกระบวนการยุติธรรมได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เขาจึงเริ่มทำแนวกันไฟ

จันริโค คาโรฟิลโย เขียนนวนิยายเรื่อง พยานไม่รู้เห็น หรือ Tesimone inconsapevole ด้วยการสร้างเสียงหัวเราะให้ผู้อ่านเป็นระยะ เขาเล่าเรื่องคู่ขนานที่มาบรรจบเป็นเรื่องเดียวกันระหว่างชีวิตรักของทนายหนุ่มนามกุยโด และภารกิจการว่าความให้จำเลยผู้ถูกกล่าวหาในคดีลักพาตัวและฆาตกรรมเด็กชายวัย 9 ขวบที่เกิดในเมืองบารี

Gianrico Carofiglio – Image Source: IG @gianricocarofiglio

คาโรฟิลโย เกิดปี 1961 ที่เมืองบารี เมืองชายฝั่งทะเลเอเดรียติก ฉากและเรื่องราวใน พยานไม่รู้เห็น จึงเกิดบนส่วนที่เป็นส้นรองเท้าบูธของแผนที่อิตาลีซึ่งเป็นบ้านเกิดของผู้ประพันธ์ เขาไม่ได้ต้องการพาผู้อ่านเข้าไปในห้องพิจารณาคดีเพื่อสืบสวนคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้น แต่ค่อยๆ เปิดเปลือยให้เห็นกระบวนการค้นหาความจริง กุยโดเผยให้เห็นความไม่น่าเชื่อถือของพยาน ไม่ใช่พยานปากเอกในคดีซึ่งเป็นภารกิจของตัวละครในนวนิยายเรื่องนี้ แต่เป็นพยานในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของความทรงจำ ความทรงจำในฐานะประสาทวิทยาและความทรงจำในฐานะปฏิบัติการทางสังคม อคติทางชาติพันธุ์มีอิทธิพลในกำหนดมุมมองต่อหลักฐานและข้อเท็จจริง ความคาดหวังของสังคมมีผลต่อรูปคดี รวมถึงอำนาจในการจดบันทึกและการเล่าเรื่อง

แผนที่ประเทศอิตาลี – image source: wikipedia

ผมกำลังจะบอกว่าการหาตัวผู้ต้องสงสัยได้ในแทบจะทันทีทันควันเพราะเหตุบังเอิญต่างๆ นั้น ได้ทำให้พนักงานสืบสวนสอบสวนเปลี่ยนความสงสัยเป็นข้อสันนิษฐาน และจากข้อสันนิษฐานเป็นพยานหลักฐาน ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ในการพิจารณาคดีนี้ จุดมุ่งหมายของฝ่ายเราคือเพื่อเผยให้เห็นกลไกดังกล่าวนั้น ย้อนเส้นทางของมัน เพื่อตรวจสอบว่ามีขั้นตอนไหนผิดพลาดหรือไม่ สรุปแบบผิดๆ หรือไม่ มีความไม่เป็นธรรมอย่างมีนัยสำคัญและร้ายแรงแม้จะไม่เจตนาหรือไม่

พยานไม่รู้เห็น หน้า 181

‘ความไม่รู้ตัว’ ที่กุยโดอภิปรายไว้ข้างต้นคือการตกอยู่ในวงล้อมของอคติและเงื่อนไขทางจิตวิทยา คาโรฟิลโย ต้องการเผยให้เห็น ‘ความไม่รู้ตัว’ ในกระบวนการค้นหาความจริงประหนึ่งการเปิดผ้าที่ปิดตาเทพีเธมิสออก เพื่อเผยให้เห็นว่าการดำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรมที่จะไม่ปล่อยให้ปัจจัยภายนอกอย่างความมั่งคั่ง ชื่อเสียง อิทธิพล มามีส่วนหรือชี้นำการตัดสินนั้น ความยุติธรรมยังมีปัจจัยอย่างอคติทางชาติพันธุ์ พยาธิสภาพของความทรงจำ จิตวิทยาของการเล่าเรื่อง มากำกับมุมมองที่เรามีต่อข้อเท็จจริงโดยที่อาจไม่รู้ตัว

อับดู เธียม เป็นผู้อพยพชาวเซเนกัล เขาตกเป็นผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว คดีซึ่งไม่มีพยานรู้เห็นเหตุฆาตกรรม แต่พยานปากสำคัญ หลักฐาน และการให้ปากคำของจำเลย กลับร้อยเรียงและร้อยรัดเขาให้ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก แต่กุยโดมองเห็นรอยต่อตรงตะเข็บที่เชื่อมระหว่างมุมมองกับความจริง ซึ่งเต็มไปด้วย ความไม่รู้ตัว ของพยาน เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน และพนักงานอัยการ ซึ่งล้วนแต่เป็นองค์ประชุมขององค์ประกอบที่ทำให้เกิดมูลในการไต่สวนของกระบวนการยุติธรรม

อิตาลี คือประตูสู่ยุโรปของผู้อพยพจากแอฟริกา ผู้อพยพจากทวีปแอฟริกาเดินทางโดยเรือบนทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อแสวงหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม อิตาลีมีคนอย่างอับดู เธียม เต็มชายหาด กรณีของ คาบี เลม (Khaby Lame) ในโลกของ TikTok น่าจะทำให้เราเข้าใจ ‘ความไม่รู้ตัว’ ที่เกิดกับ อับดู เธียม ในนวนิยาย พยานไม่รู้เห็น ได้ดีขึ้น

เลม เป็นชาวอิตาลีผู้อพยพตามพ่อแม่มาจากเซเนกัล เขาเคยเป็นพนักงานโรงงานมาก่อนที่จะตกงานในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2020 จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เขาผันตัวมาเป็นดาว TikTok มีชื่อเสียงไปทั่วโลก รายได้จาก 1 โพสต์ของเลมตกเป็นเงินราว 1-2 ล้านบาท แม้จะอาศัยอยู่ที่อิตาลีมาตั้งแต่ 1 ขวบ แต่เลมก็ยังไม่ได้สัญชาติอิตาลี เขาให้สัมภาษณ์ว่าต้องการใช้ชื่อเสียงของตัวเองเพื่อผลักดันให้สิทธิแก่ลูกหลานของผู้อพยพทั้งหลาย

image source: ilsorpassomts.com

คาโรฟิลโย เผยให้เห็นลักษณะ ‘ความไม่รู้ตัว’ ที่เกิดในกระบวนการค้นหาความจริงผ่านการ ย้อนเส้นทางของการค้นหาความจริงในกระบวนการยุติธรรม ของกุยโด เพื่อตรวจสอบว่ามีขั้นตอนไหนผิดพลาดหรือไม่

ท่วงทำนองในการเผยให้เห็นกระบวนการนี้ของ คาโรฟิลโย เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ยกตัวอย่างหลักฐานสำคัญในการประกอบสำนวนคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเก็บมาจากห้องพักของอับดู เธียม คือ หนังสือ แฮรี่ พอร์ตเตอร์, เจ้าชายน้อย, ปิน็อคคิโอ, ด็อกเตอร์ ดูลิตเติ้ล

อับดู เธียม เป็นพลเมืองชั้นสองในอิตาลี เขาเป็นครูตกงานที่ต้องเร่ขายสินค้าแบรนด์เนมของปลอมบนชายหาดในเมืองบารี (แน่นอนเขาชอบสูบกัญชาด้วย) การเป็นผู้อพยพจากเซเนกัลทำให้มุมมองแบบคนอิตาเลียนที่มีต่อเขาคลาดเคลื่อน หนังสือวรรณกรรมเยาวชนในห้องพักของเขาจึงกลายเป็นสิ่งล่อลวงความสนใจเด็กชายวัย 9 ขวบให้เข้ามาติดกับ แทนที่จะเป็นวัตถุพยานที่บ่งบอกความสนใจที่มีต่อโลกและชีวิตของชายชาวเซเนกัล ภาพถ่ายโพลาลอยด์ที่บันทึกภาพคู่ของเขากับเด็กชายที่เสียบคั่นหน้ากระดาษในหนังสือจึงกลายเป็นความใคร่เด็กแทนมิตรภาพระหว่างเด็กชายกับครู

คุณคือใคร ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนเล่า มุมมองของผู้เล่ากำหนดสถานะและตัวตนของผู้ถูกเล่า เพราะอำนาจย่อมอยู่ในมือของผู้เล่า กระบวนการบันทึกการสอบปากคำของพยานปากสำคัญในคดีของอับดู เธียม ก็ดูเหมือนจะอยู่ในรูปรอยนี้ เพราะเจ้าหน้าที่สอบสวนจดบันทึกแบบสรุป ไม่มีเครื่องบันทึกเสียงหรือภาพหรือแม้แต่การจดชวเลข แต่เป็นการจดบันทึกแบบสรุป

พนักงานอัยการจะพูดว่า เป็นถ้อยคำของลูกความผมไม่ได้หากคำให้การที่อ้างถึงนั้นเป็นแบบสรุป ในการสอบปากคำที่พนักงานอัยการอ้างถึงซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่สอบปากคำคุณเธียม ไม่มีการจดชวเลข และไม่ได้ใช้เครื่องบันทึกใดๆ เลย

พยานไม่รู้เห็น หน้า 259

คุณคือใคร คุณจะเป็นใครก็ได้ขึ้นอยู่กับมุมมองที่ถูกเล่ามาจากผู้เล่า นวนิยายจึงมีความเหมือนจริง แต่ไม่ใช่ความจริง และกุยโดก็อภิปรายประเด็นนี้ในการพิจารณคดีของอับดู เธียม ศาลไม่สามารถตัดสินด้วย ‘ความเหมือนจริง’ แต่ต้องเป็น ‘ความจริง’

เมื่อการสืบย้อนกระบวนการค้นหาความจริงในกระบวนการยุติธรรมส่องสะท้อนอยู่บนกระบวนการเล่าเรื่องในนวนิยาย มันจึงเกิดผลลัพธ์ทางการอ่าน การย้อนเส้นทางการค้นหาความจริงในกระบวนการยุติธรรมเพื่อตรวจสอบว่ามีขั้นตอนไหนผิดพลาดหรือไม่ ได้กลายมาเป็นเนื้อเดียวกับการย้อนเส้นทางชีวิตของตัวละครนามกุยโด เพื่อตรวจสอบว่าที่ผ่านมาชีวิตผิดพลาดตรงไหน เขาปล่อยให้ตนไม่รู้ตัวได้อย่างไรจนไฟลุกลาม แต่โชคดีที่เขารู้ตัวเสียก่อน

พยานไม่รู้เห็น เป็นทั้งนิยายรัก และ Courtroom thriller ที่ตัวละครไม่ได้สืบสาวความจริงเพื่อคืนความสงบเรียบร้อยให้แก่สังคม แต่กุยโดกอบกู้เกียรติยศให้วิชาชีพทนายและคืนความจริงให้ตนเอง


บทความอื่นๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า