หยัดยืน: ล้มตายแต่มีชีวิต

เรื่อง: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

เรื่องราวในนวนิยาย หยัดยืน ปรากฎในความคิดของ มาร์โค บัลซาโน ครั้งแรกจากการเดินทางไปคูรอน เวนอสตา (Curon Venosta) ในช่วงฤดูร้อนของปี 2014 ภาพนักท่องเที่ยวต่อแถวยาวเหยียดเพื่อถ่ายรูปเซลฟี่โดยมีฉากหลังเป็นหอระฆังตั้งอยู่กลางทะเลสาบเรเซียดึงดูดความสนใจอาจารย์สอนวรรณกรรมจากเมืองมิลานให้ควานหาเรื่องราวที่จมอยู่ใต้น้ำมาตั้งแต่ปี 1950

“ภาพแถวของผู้คนที่มีสมาร์ทโฟนครบมือเป็นภาพเดียวที่ดึงความสนใจของผมออกจากภาพอันน่าตะลึงของหอระฆังกลางน้ำและผืนน้ำที่ซ่อนหมู่บ้านเรเซียและคูรอน” บัลซาโน เผยเล่าแรงบันดาลใจไว้ในส่วนท้ายของนวนิยาย “ผมไม่คิดว่าจะมีอะไรแสดงความรุนแรงของเรื่องราวในอดีตได้ชัดไปกว่านี้อีกแล้ว”

นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือไปชมหอระฆังในระยะใกล้ได้ในฤดูร้อน แต่หากไปเยือนคูรอน เวนอสตาในช่วงหน้าหนาว คุณสามารถเดินเท้าไปบนทะเลสาบที่กลายเป็นน้ำแข็ง ใต้ผืนน้ำแข็งนี้นี่เองที่อดีตเก็บงำเรื่องราวเอาไว้ราวกับความลับ นวนิยายของบัลซาโน่จึงทำหน้าที่คล้ายแสงแดด อุณหภูมิที่สูงขึ้นค่อยๆ ละลายแผ่นน้ำแข็งของทะเลสาบเรเซีย ระดับน้ำลดลงเผยให้เห็นร่องรอยของชีวิต การต่อต้านและเงียบเฉย การหยัดยืนและจากไป

image source: mondoinaltalena.it/lagodiresia-storia/destinations/

‘การอยู่’ และ ‘การไป’ เป็นทางแยกสำคัญที่ปรากฎในนวนิยายเรื่องนี้อย่างมีความหมาย การเลือกครั้งสำคัญ นี้บ่งบอกถึงกิริยาของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกหรือการหนีต่างก็ต้องอาศัยการเดินทางและเคลื่อนที่ แต่การปกป้องคือการยืนหยัดอยู่กับที่ เรื่องราวในนวนิยายซื่อตรงกับชื่อเรื่อง มันคือเรื่องราวของตัวละครที่หยัดยืนเพื่อปกปักรักษาบ้านเกิดให้รอดพ้นจากโครงการสร้างเขื่อน แต่ไม่สำเร็จ

คูรอน เป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ริมทะเลสาบเรเซีย เป็นเมืองในหุบเขาวัลเวนอสตา ตั้งอยู่ในแคว้นเตรนตีโน อัลโต อาดีเจ อยู่ภายใต้การปกครองพิเศษของอิตาลี แต่เดิมแคว้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของออสเตรีย ประชากรพูดภาษาเยอรมัน แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ดินแดนส่วนนี้กลายเป็นของอิตาลี ตัวตนของชาวเมืองคูรอนจึงอยู่ผิดที่ผิดทางเหมือนหอระฆังกลางทะเลสาบในอีกกว่า 70 ปีต่อมา

หมู่บ้านคูรอนก่อนสร้างเขื่อน
image source: nerdevil.it/2020/06/10/curon-storia-vera-leggende/

“ภาษาของเราคือเยอรมัน ศาสนาคือคริสต์ การงานอยู่ในไร่นา” เรื่องราวในนวนิยายทั้งหมดถูกเล่าด้วยน้ำเสียงของตรีนา เธอเขียนเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนหมู่บ้านจมน้ำให้ลูกสาว ‘ผู้เลือกที่จะไป’ ซึ่งในปี ค.ศ.1923 “มุโสลินีเปลี่ยนชื่อทุกอย่างใหม่หมด ทั้งชื่อถนน ลำธาร ภูเขา  ลามปามไปถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว คนใจทรามพวกนั้นเปลี่ยนได้แม้แต่ชื่อบนป้ายหลุมศพ” (หน้า 16)

ภาษาเป็นทั้งการบุกรุกและการปกปักรักษา ในดินแดนทีโรลใต้ ผู้คนไม่พูดอิตาเลียน รัฐบาลมุสโสลินีกำลังทำให้ทีโรลใต้มีความเป็นอิตาเลียน ไม่ว่าจะเป็นการส่งคนอิตาเลียนเข้าไปปกครองคนท้องถิ่น การจ้างแรงงานอย่างมีอคติทางเชื้อชาติ การลบความทรงจำท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในทีรอลใต้ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

“หากปืนคืออาวุธของเพศชาย ภาษาก็เป็นอำนาจของผู้หญิง”

ในสังคมที่ห้ามพูดภาษาเยอรมัน การสอนภาษาเยอรมันจึงเป็นการต่อต้านขั้นรุนแรง หากปืนคืออาวุธของเพศชาย ภาษาก็เป็นอำนาจของผู้หญิง ตรีนาแอบสอนภาษาเยอรมันให้เด็กๆ ในโรงเรียนใต้ดินของชาวท้องถิ่น เธอเรียนภาษาอิตาเลียนด้วย ตอนแรกหวังว่าจะมีคนจ้างงาน แต่ภาษาอิตาเลียนนี้เองที่เธอใช้เป็นอาวุธในการหยัดยืนต่อสู้กับโครงการสร้างเขื่อนของรัฐบาล

“ฝ่ายเราปะทะกับพวกเขาตั้งแต่ต้น ภาษาของเราปะทะกับของพวกเขา การวางอำนาจบาตรใหญ่ของผู้ที่จู่ๆ ก็มีอำนาจอยู่ในมือประจันกับผู้ซึ่งเรียกร้องสิทธิในรากเหง้าที่ยืนยาวมาหลายศตวรรษ” (หน้า 23)

นอกจากภาษาและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ชาวคูรอนยังต้องเผชิญกับโครงการสร้างเขื่อนที่จะขุดรากของพวกเขาจนไม่เหลือเหง้า

รัฐบาลเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะทำให้แคว้นอัลโตอาดิเจเป็นเหมืองทองคำขาว แต่ “หมู่บ้านของเราคงจะหายไปใต้สุสานน้ำแห่งนี้ บ้านไร่ โบสถ์ ร้านรวง ท้องทุ่งที่พวกสัตว์ไปกินหญ้าจะจมหายไปหมด เขื่อนนี้จะทำให้เราสูญเสียทั้งบ้าน สัตว์เลี้ยง และงาน  แล้วเราจะไม่เหลืออะไรอีกเลย เราจะต้องอพยพย้ายที่ แล้วไปเป็นคนอื่น ทำมาหากินอย่างอื่นในที่อื่น กลายเป็นคนเมืองอื่น” (หน้า 24)

การกลายไปเป็นคนเมืองอื่น การกลายไปเป็นคนอื่น ดูเหมือนจะไม่สร้างปัญหาให้มาริกา ตัวละครสำคัญในนวนิยายที่เราไม่มีโอกาสได้เห็นใบหน้าของเธอ แต่เธอคือลมหายใจของเรื่อง เธอคือลูกสาวที่ตรีนาเขียนเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง มาริกาต่อต้านการตัดสินใจของครอบครัวที่ ‘เลือกอยู่’ ด้วย ‘การหนี’ ไปกับลุงและป้าในปี 1939

            ระบบฟาสซิสต์ปิดประตูความหวังของชาวเมืองพื้นถิ่น ไม่มีโอกาสที่ดีในชีวิตหากเป็นชาวทีรอลใต้ภายใต้การปกครองของมุโสลินี ความหวังของชาวทีรอลใต้จึงฝากไว้ที่บุรุษอีกคน และในปี 1939 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ประกาศว่า ชาวเมืองสามารถทิ้งทีรอลใต้ไปอยู่อาณาจักรไรซ์ได้หากต้องการ นี่คือ การเลือกครั้งสำคัญ แต่การเลือกครั้งสำคัญนี้ได้ขีดแบ่งผู้คนในเมืองคูรอนออกเป็นสอง คือ ‘พวกอยู่’ กับ ‘พวกไป’ ตรีนาและเอริชผู้เป็นสามีเลือกที่จะอยู่ ซึ่งเป็นคนส่วนน้อย และถูกตีตราว่าเป็นพวกทรยศต่อเยอรมนี

มุสโสลินี กับ ฮิตเลอร์

            “ทำไมเราไม่ไปกับเขาบ้างละแม่” มาริกาถามแม่ คำตอบที่ได้รับก็คือ พ่อของเธอตัดสินใจเลือกที่จะอยู่

            มาริกาจึงเลือกที่จะหนี เพื่อโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า เธอยังเด็กอยู่เลย แต่กลับกล้าหาญที่จะตัดสินใจ เธอกล้าตัดสายสะดือตนกับมารดาและครอบครัวจนขาดสะบั้น การจากไปของมาริกาคือการตบหน้าพ่อและทำให้ตนกลายเป็นคนแปลกหน้าที่แม่ต้องตั้งคำถามใหม่ว่าลูกของเธอคือใคร เธอและสามีเลือกที่จะอยู่ หยัดยืนอยู่ในบ้านของตนเอง รอคอยสงครามที่คืบคลานเข้ามา

            ในช่วงที่ฮิตเลอร์เรืองอำนาจ พวกเลือกที่จะอยู่จึงกลายเป็นพวกที่ตัดสินใจผิดพลาด พวกเขาเลือกพาตัวเองอยู่ผิดที่ผิดทางเหมือนการดำรงอยู่ของหอระฆังกลางทะเลสาบเรเซีย จนเมื่อสงครามจบ ฮิตเลอร์เป็นอาชญากรสงคราม พวกเลือกที่จะไปจึงค่อยๆ ทยอยกันกลับมา ไม่ใช่การเชิดหน้าชูตา แต่ก้มหน้ากลับมาตายรัง พวกเลือกที่จะอยู่จึงกลายเป็นผู้หยัดยืน

            สงครามจบ พวกเขายังต้อง “เป็นอิตาเลียนกันต่อไป” (หน้า 133) และดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่ได้เป็นคนของที่ไหน เขาไม่ได้จงรักฟาสซิสต์หรือภักดีนาซี พวกเขาเทิดทูนต่อชีวิต ชีวิตของพวกเขาเอง

            “เราอาจไม่ได้กลายเป็นแค่คนเยอรมันหรืออิตาเลียนเท่านั้นแล้วสิเนี่ย แต่อาจเป็นคนรัสเซียก็ได้ถ้าพวกคอมมิวนิสต์ยังแผ่ขยายอำนาจต่อไปอยู่อย่างนี้”

          “หรือถ้าคอมมิวนิสต์ไม่แผ่อำนาจ เราอาจเป็นคนอเมริกันก็ได้นา” (หน้า 147)

            พวกเขากลับมามีชีวิตของตนเองเหมือนเดิม ซึ่งเป็นชีวิตที่ลำบาก มาริกาคงไม่กลับมาอีกแล้ว แต่เรื่องเล่าที่เขียนให้มาริกาอ่านยังไม่จบ ไม่น่าจะเกิน 12 ปีที่มาริกาใช้เวลาร่วมกับพ่อและแม่ แต่เธอกลับมีตัวตนในความทรงจำของตรีนาและเอริชไปชั่วกาล

โครงการเขื่อนถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง มันถูกประกาศครั้งแรกในปี 1911 ซึ่งในตอนนั้นเป็นเหมือนเงาครึ้มของเมฆที่อยู่ตรงสุดขอบฟ้า สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ได้เหนี่ยวรั้งเวลาที่น้ำจะจมทุกสิ่งเอาไว้ แต่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ผู้ประกอบการจากบริษัทมนเตคาตีนีต้องการให้ชาวบ้านในเรเซียและคูรอนย้ายออกไป เพราะต้องการรวมทะเลสาบทั้ง 3 แห่งที่อยู่ใกล้ ๆ กันให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างแหล่งผลิตพลังงานขนาดใหญ่ ในแผนการแรกของการสร้างเขื่อนจะทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 5 เมตร แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง โครงการสร้างเขื่อนก็ถูกรื้อฟื้นขึ้นมา แต่คราวนี้โครงการเพิ่มระดับน้ำในเขื่อนเป็น 22 เมตร

กรกฎาคม 1950 เริ่มทำลายหมู่บ้านคูรอน เหลือไว้เพียงหอระฆัง

            เป็นอีกครั้งที่ชาวเมืองคูรอนต้องเผชิญกับ การเลือกครั้งสำคัญ  เมื่อศาลอนุญาโตตุลาการยื่นข้อเสนอให้ชาวเมืองว่าจะรับค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินหรือเลือกรับบ้านหลังใหม่ ถ้ารับเงินพวกเขาต้องไปสู่ที่อื่น ต้องกลายไปเป็นคนอื่น ทำมาหากินในถิ่นอื่น ถ้าเลือกบ้านที่โครงการจะสร้างให้ พวกเขาจะต้องรอคอย

            และเป็นอีกครั้งที่ตรีนาและเอริชเลือกที่จะยืนหยัด และเป็นอีกครั้งที่ตรีนาใช้อาวุธเดียวที่เธอมีในการต่อสู้ เธอเขียนจดหมายไปหาพระสันตะปาปา เขียนจดหมายไปหานายกเทศมนตรีเมืองข้างเคียง เขียนจดหมายไปหาหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เพื่อหาแนวร่วมในการชี้ให้เห็นหายนะของการสร้างเขื่อน เธอยืนหยัดเคียงข้างเอริชผู้เป็นสามีในการต่อต้านเขื่อน

            “ทั้งวันทั้งคืนเอริชยุ่งกับเรื่องจัดการป้องกันและการประท้วง เขาก่อตั้งกลุ่มเล็กๆ ขึ้นมา แต่ไม่มีใครกลัว แค่มีชาวบ้านเพียงคนเดียวก็ทำให้เขามีกำลังใจและหลอกตัวเองได้ว่าเขาสำคัญอยู่บ้าง แม่เองออกไปกับเขาทุกครั้งที่ทำได้ แม่กลัวว่าเขาจะอยู่คนเดียว ตะโกนร้องอยู่คนเดียว โมโหโกรธาอย่างไร้อำนาจอยู่คนเดียว แม่อยากปกป้องเขาจากการถูกคนอื่นทอดทิ้ง” (หน้า 165)

            การถูกทอดทิ้งย่อมเป็นความเจ็บปวด แต่ทบเท่าเป็นทวีเมื่อถูกคนในครอบครัวทอดทิ้ง มาริกายังคงปรากฎเป็นเงาลางเลือนไปจนถึงตอนที่ระดับน้ำในนวนิยายค่อยๆ สูงขึ้น เธอกลายเป็นความทรงจำที่ผิดเพี้ยนของครอบครัว เธอกลายเป็นคนแปลกหน้าของพ่อและแม่ ไม่ใช่มาริกาคนเดิมอีกแล้วทุกบรรทัดที่เรื่องราวเคลื่อนไป เพราะทุกครั้งที่ตรีนาและเอริชระลึกถึงเธอ มาริกาจะไม่ใช่มาริกาคนเดิมอีกต่อไป แต่เป็นมาริกาในความทรงจำที่มีสถานะเหมือนบ้านที่ต่อเติมไม่มีวันจบสิ้น

            คงมีระดับความแตกต่างกันอยู่บ้างระหว่าง ‘การนึกถึง’ กับ ‘ความคิดถึง’ เพราะเมื่อต้องตอบคำถามของภรรยาว่ายังคิดถึงลูกสาวผู้จากไปหรือไม่ เอริชตอบว่า “นึกถึงแต่ไม่คิดถึง” (หน้า 152)

            อย่างที่ทราบ พวกเขาไม่สามารถต่อต้านการบุกรุกในครั้งนี้ได้ บ้านเรือน คอกสัตว์ เมืองทั้งเมืองถูกทำลายด้วยระเบิด TNT ก่อนที่รัฐบาลอิตาลีจะปล่อยน้ำจมทุกอย่างในปี 1950 เหลือเพียงหอระฆังหยัดยืนเพียงลำพัง

image source: Getty Images/Miguel Medina

            “เหตุการณ์ทำลายหมู่บ้านของเรานั้นถูกสรุปสั้นๆ อยู่ภายใต้ศาลาไม้เล็กๆ ในลานจอดรถบัสของบริษัทนำเที่ยว” (หน้า 181)

            ในปี 2021 หมู่บ้านโบราณคูรอนได้ปรากฎตัวขึ้นบนฟีดข่าวหน้าจอสมาร์ทโฟนหลังเจ้าหน้าที่ทำการซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ มีการระบายน้ำบางส่วนออกจากทะเลสาบ ในรายงานข่าวระบุว่า หมู่บ้านโบราณแห่งนี้จมอยู่ใต้น้ำมา 71 ปี หลังจากทางการเจรจาขอพื้นที่เพื่อนำมาสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากผู้อยู่อาศัยหลายร้อยชีวิต แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถทัดทานได้ ชาวบ้านบางส่วนตัดสินใจสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นใหม่ในบริเวณใกล้เคียง ขณะบางส่วนก็เดินทางออกไปปักหลักยังพื้นที่อื่นที่ห่างไกล

            เรื่องราวที่เกิดขึ้นในคูรอนชวนให้นึกถึงเรื่องราวที่เกิดในบางกลอย, กะเบอะดิน, ราษีไศล, ปากมูล, แม่เมาะ ฯลฯ เรื่องราวที่เกิดขึ้นใน หยัดยืน ชวนให้สะเทือนใจไปกับชีวิตของผู้คนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องชีวิตและบ้าน บทสรุปจำนวนมากของเรื่องราว Genre นี้มักจะจบแบบโศกนาฎกรรม พวกเขาล้มลงแต่ยืนหยัด ล้มตายแต่มีชีวิต

มาร์โค บัลซาโน image source: ladante.it

            กว่า 3 ปีที่ มาร์โค บัลซาโน ค้นคว้าเอกสารเกี่ยวกับโครงการสร้างเขื่อน รวมถึงการสัมภาษณ์วิศวกร นักประวัติศาสตร์ นักสังคมวิทยา และพยานบุคคลในเมืองคูรอน ซึ่งล้วนก็แก่ชรามากแล้ว เขาพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์บุคคลจากบริษัทที่ดำเนินการสร้างเขื่อนในเวลานั้นเพื่อถามคำถามสำคัญบางประการ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ ทั้งหมดเพื่อที่จะสนทนากับประวัติศาสตร์และสร้างเรื่องราวที่จมใต้ผืนน้ำขึ้นมาใหม่ในรูปแบบนวนิยาย


หยัดยืน
มาร์โค บัลซาโน เขียน
สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์ แปล

บทความล่าสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า