พยานไม่รู้เห็น

ชวนอ่าน “พยานไม่รู้เห็น”

เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.คณพล จันทน์หอม

ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[ก่อนอื่น ผมขอยืนยันว่าผมไม่ได้รับการสนับสนุน คำแนะนำ หรือการชักจูงจากสำนักพิมพ์หรือผู้ใดในการเขียนข้อความข้างล่างนี้ ในฐานะอาจารย์สอนกฎหมายอาญา ผมเพียงแต่อยากเล่าสู่กันฟัง และต้องการชื่นชมผู้เขียน ผู้แปล สำนักพิมพ์ และรัฐบาลอิตาลี ที่ทำให้เกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้นเท่านั้น]

ผมไม่สันทัดในการอ่านนวนิยายเท่าใดนัก จะอ่านบ้างก็แต่นวนิยายคลาสสิก แต่หลังจากที่ได้อ่านนวนิยายสัญชาติอิตาลีชื่อ “พยานไม่รู้เห็น” (Testimone inconsapevole) ของ จันริโค คาโรฟิลโย (Gianrico Carofiglio) อดีตพนักงานอัยการผู้มากประสบการณ์และนักเขียนนวนิยายที่หาตัวจับได้ยากแล้ว รู้สึกประทับใจและไม่เสียดายเวลาเลยแม้แต่นาทีเดียวที่อ่านเรื่องนี้จนจบ

นวนิยายเรื่องนี้ต้นฉบับพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Sellerio editore Palermo พิมพ์ซ้ำกว่าหนึ่งร้อยครั้ง แปลเป็นภาษาไทยโดยคุณนันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ และพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ อ่านอิตาลี เมื่อเดือนตุลาคม โดยได้รับเงินสนับสนุนการแปลจากกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของอิตาลี

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อตัวละครเอกซึ่งเป็นทนายความรับว่าความคดีฆ่าและกระทำผิดทางเพศต่อเด็กชายอายุ 9 ขวบ จำเลยเป็นชาวต่างประเทศมาขายของอยู่ริมชายหาดแห่งหนึ่งและได้รู้จักกับผู้ตายระยะหนึ่งก่อนตาย หลังจากที่ตำรวจทราบว่ามีเหตุฆาตกรรมเกิดขึ้น ตำรวจได้ไปค้นหาพยานหลักฐานต่างๆ จนเป็นที่มาของการจับกุมตัวและดำเนินคดีแก่จำเลย จุดเด่นของเรื่องเป็นการต่อสู้กันระหว่างพนักงานอัยการกับทนายความ เพราะพยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหามาได้ล้วนแล้วแต่เป็น “พยานแวดล้อม” ทั้งสิ้น แต่พยานนั้นก็สืบเนื่องเชื่อมโยงกันราวกับว่าจำเลยเป็นฆาตกร ในตอนแรกตัวละครเอกซึ่งเป็นทนายความเห็นว่าควรให้จำเลยเข้าสู่ “กระบวนพิจารณาคดีแบบรวบรัด” เพื่อขอลดโทษให้แก่จำเลย เพราะเห็นพยานหลักฐานที่เชื่อมโยงกันนั้น แต่จำเลยยืนยันว่าจะไม่เข้ากระบวนการดังกล่าว และจะขอดำเนินกระบวนพิจารณาปกติ ทนายความก็ทำตามความประสงค์ของจำเลย และทำหน้าที่อย่างดีที่สุด จนกระทั่งศาลอัสซีเซ ซึ่งเป็นศาลประจำเมืองพิพากษายกฟ้องจำเลย

สิ่งประทับใจจากเรื่องนี้มีหลายอย่าง เช่น

หนึ่ง ผู้เขียนสามารถผสมผสานและถ่ายทอดเรื่องราวของกฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญากับเรื่องที่แต่งขึ้นได้อย่างลงตัว ถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย เริ่มตั้งแต่ชั้นสอบสวน สั่งฟ้อง ไต่สวนมูลฟ้อง สืบพยาน และพิพากษาคดีโดยศาลอัสซีเซ แตกต่างจากนวนิยายส่วนใหญ่ที่ผูกเรื่องเกี่ยวกับการสืบสวน เช่น ใครฆ่าผู้ตาย และฆ่าผู้ตายอย่างไร เป็นสำคัญ ไม่ได้มุ่งผูกเรื่องราวในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นจนจบเข้าไว้ด้วย

สอง ผู้เขียนสามารถสร้างตัวละครให้เป็นปุถุชน มีรักโลภโกรธหลง เก็บรายละเอียดกิริยาท่าทางของตัวละครได้อย่างละเอียด สอดแทรกการทำงานในฐานะทนายความเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน และมีการสลับเรื่องราวความรักกับกระบวนพิจารณาคดีเพื่อให้หลากรสและสามารถเปลี่ยนอารมณ์ของผู้อ่านให้ไม่รู้สึกเบื่อ

สาม ผู้เขียนสื่อสารกับผู้อ่านอย่างตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ไม่ใช้ภาษาดอกไม้ แต่เป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำที่พูดกับตัวเองหรือผู้อื่น สำบัดสำนวนเชือดเฉือนประชดประชันสมกับที่นักกฎหมายเป็นคนแต่ง นอกจากนี้ ผู้เขียนยังมักตบท้ายด้วยเพลงประทับใจตอนท้ายของบท

สี่ ผู้เขียนสอดแทรกความรู้ทางกฎหมายให้แก่ผู้อ่าน ทั้งกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาโดยไม่รู้ตัว มีการหยิบยกตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องมาให้ผู้อ่านได้สัมผัสตัวบทกฎหมายจริงด้วย ที่สำคัญมีกฎหมายและกระบวนการบางอย่างที่ประเทศเราไม่มี เป็นต้นว่าการมีลูกขุนร่วมในการพิจารณาพิพากษาคดี การพิจารณาคดีอาญาแบบรวบรัดเพื่อขอให้ลดโทษ ทำให้ได้แง่คิดแก่นักกฎหมายอาญาที่จะค้นคว้าวิจัยและพัฒนากฎหมายบ้านเราต่อไป

ห้า ผู้เขียนสอดแทรกแง่คิดหลายประการไว้ในเรื่อง เช่น สิ่งที่คนคนหนึ่งคิดว่าจะเป็นจุดสิ้นสุด แต่จุดเดียวกันนั้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่งดงามก็ได้ นอกจากนี้ผู้เขียนยังยืนยันว่า “ความยุติธรรมมีอยู่จริง” บุคคลในกระบวนการยุติธรรมพร้อมให้ความยุติธรรมแก่ทุกคนเสมอ และการพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดต้องพิสูจน์จนสิ้นสงสัย ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

หก ข้อนี้สำคัญมากในเชิงนิติศาสตร์ ผู้เขียนชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของการค้นหาพยานหลักฐานที่ผู้รวบรวมพยานหลักฐานมักมี “อคติ” คือเชื่อสัญชาตญานและความรู้สึกของตนว่า ใครทำผิดหรือไม่ได้ทำผิด และนำพยานหลักฐานที่เชื่อมโยงหรือยืนยันอคตินั้นเข้าสู่สำนวน ทั้งๆ ที่ถ้าพยานหลักฐานชิ้นนั้นอยู่รวมกับวัตถุอื่นๆ ก็อาจเป็นเพียงวัตถุธรรมดาชิ้นหนึ่งเท่านั้น เช่น หนังสือเด็กและภาพถ่ายผู้ตายกับจำเลยที่ค้นพบ แม้ว่าในห้องของจำเลยจะมีหนังสือหลากหลายชนิดและภาพถ่ายที่จำเลยถ่ายไว้กับใครอีกหลายคนซึ่งอยู่นอกสำนวนอีกเป็นจำนวนมาก แต่ผู้รวบรวมพยานหลักฐานใช้วิธี selective นำมาเฉพาะแต่หนังสือเด็กและภาพถ่ายภาพนั้นเพื่อชี้ให้เห็นว่าการตายของเด็กเกี่ยวข้องกับจำเลย

ส่วนความประทับใจที่มีต่อตัวผู้แปลซึ่งผมขอขอบพระคุณยิ่ง คือ ผู้แปลแปลหนังสือเล่มนี้ด้วยถ้อยคำเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ไม่มีกลิ่นอายของมักกะโรนีและน้ำมันมะกอกหลงเหลืออยู่ ยกเว้นแต่ชื่อเฉพาะต่างๆ ที่จำต้องมีเท่านั้น

นอกจากนี้ ผู้แปลได้ศึกษาภาษากฎหมายมาเป็นอย่างดี ใช้ถ้อยคำที่นักกฎหมายใช้ แต่เรียบง่าย แม้คนที่ไม่เคยเรียนกฎหมายมาก่อนก็อ่านสนุก และได้ความรู้ นับว่าผู้แปล แปลเรื่องนี้ได้อย่างวิเศษ และเป็นคุณูปการแก่คนทั้งปวงรวมทั้งนักนิติศาสตร์ด้วย

อย่างไรก็ตาม มีข้อที่น่าสงสัยอยู่นิดเดียว คือ การจำแนกระหว่างบทบัญญัติของ “ประมวลกฎหมายอาญา” (Penal Code หรือ Criminal Code) กับ “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” (Code of Criminal Procedure) ถ้าไม่ใช่นักกฎหมายก็คงอ่านโดยไม่สะดุด แต่ถ้าหากนักกฎหมายอ่าน อาจสงสัยได้ว่าบทบัญญัติที่ผู้เขียนกำลังกล่าวถึงนั้นมาจากประมวลกฎหมายใดกันแน่ เช่น ในหนังสือกล่าวถึงเรื่องการยกฟ้องแต่อ้างว่ามาจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 530 วรรคแรก แต่เมื่อตรวจสอบแล้วเป็นบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นต้น แม้กระนั้นข้อสงสัยนี้ก็เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ไม่ได้กระทบเนื้อหาสาระที่ได้รับจากเรื่อง

ท่านที่สนใจนวนิยายแนวนี้ก็สามารถหามาอ่านได้นะครับ รับรองว่าสนุกและได้ประโยชน์ครับ


บทความอื่นๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า